Search

การแก้จนด้วยแหล่งน้ำขนาดเล็ก / รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ - ผู้จัดการออนไลน์

nawasana.blogspot.com


ปัญหาความยากจนและปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และโอกาสที่ไม่เท่าเทียมกันของคนไทยเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดปัญหาหนึ่งของประเทศไทยในปัจจุบัน

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID–19 ได้ซ้ำเติมให้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยให้รุนแรงขึ้นอย่างเฉียบพลันทันที เพราะมีการปิดงาน การเลิกจ้าง และธุรกิจ SME ส่วนใหญ่ ขาดเงินทุนหมุนเวียนที่จะดำเนินธุรกิจต่อไปได้

ถึงแม้ว่านิยามเส้นความยากจนของหน่วยราชการต่าง ๆ จะแตกต่างกัน อย่างไรก็ดี เราอาจกล่าวได้อย่างกว้างๆ ว่าจากเดิมก่อนสถานการณ์ COVID จำนวนคนจนมีอยู่ระหว่าง 7-8 ล้านคนได้เพิ่มสูงขึ้น ในช่วงสถานการณ์ COVID ถึงเกือบ 20 ล้านคน

นี่เป็นสถานการณ์ที่ท้าทายวิสัยทัศน์และความสามารถของรัฐบาลที่จะบริหารจัดการกับความเสี่ยงทางด้านเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดีได้อย่างไร

เป็นโจทย์สำคัญที่สุด ที่รัฐบาลจะต้องตอบว่ารัฐบาลควรทำอะไร ? และทำอย่างไร ? จึงจะสามารถแก้โจทย์ใหม่ของประเทศไทยได้อย่างรวดเร็วและทันการณ์

กล่าวได้ว่าปัญหาความยากจนส่วนใหญ่ของไทยอยู่กับคนในภาคการเกษตร สาเหตุใหญ่ที่สุดของความยากจนในภาคเกษตรมาจากปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อใช้ในการผลิตและในการอุปโภค บริโภค การขาดแคลนน้ำเพื่อใช้ในการผลิตทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่ของไทยต้องพึ่งน้ำฝนอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

การพึ่งพาน้ำฝนเพื่อปลูกข้าวใช้เวลาเพียง 4-5 เดือนต่อปี เวลาที่เหลือพวกเขาส่วนใหญ่ หากไม่กลายเป็นการว่างงานโดยสมัครใจ พวกเขาก็จำเป็นต้องออกจากหมู่บ้านเพื่อไปทำงานรับจ้างในภาคนอกการเกษตร นั่นก็คือความยากจนของเกษตรกรไทยซึ่งมาจากการขาดโอกาสในการประกอบอาชีพอย่างเต็มความสามารถ นอกจากนี้ปัญหาความยากจนของเกษตรกรไทยยังมาจากปัญหาความมั่นคงในเรื่องน้ำ

ในช่วงระยะเวลา 60 ปีที่ผ่านมา เราสามารถสร้างเขตพื้นที่ชลประทานได้เพียง 28.7 ล้านไร่ของพื้นที่การเกษตรทั่วประเทศที่มี 130.3 ล้านไร่ คิดเป็นเพียงร้อยละ 22 ของพื้นที่การเกษตรทั้งประเทศ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือพื้นที่อีกร้อยละ 78 ของพื้นที่การเกษตรไม่มีน้ำทำการเกษตรทั้งปี พื้นที่เหล่านี้จำนวนมากกลายเป็นพื้นที่ประสบภัยแล้งซ้ำซาก

ผู้เขียนเห็นว่าหากเรายังใช้หลักคิดแบบเดิมในการบริหารจัดการน้ำเหมือนเมื่อ 60 ปีที่ผ่านมา ผู้เขียนไม่สู้แน่ใจว่าอีก 60 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะมีพื้นที่ชลประทานถึงร้อยละ 50 ของพื้นที่การเกษตรหรือไม่ ? และผมก็ไม่สู้แน่ใจว่าในอีก 120 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะมีพื้นที่ชลประทานครอบคลุมได้ถึงร้อยละ 75 ของพื้นที่การเกษตรทั้งประเทศหรือไม่ ?

ทั้งที่ข้อเท็จจริงก็คือประเทศไทยมีปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ยเพียงพอกับความต้องการใช้น้ำของคนไทยทั้งประเทศ แต่ปัญหาใหญ่ที่สุดของไทยคือเราไม่สามารถเก็บกักน้ำฝนเหล่านี้ได้เพียงพอ ปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ยของไทยตกราวปีละ 750,000 ล้านลูกบาศก์เมตร

ส่วนความต้องการใช้น้ำทั้งประเทศอยู่ในราว 150,000 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี เพราะเหตุว่าเราสามารถเก็บกักน้ำได้ราว 102,000 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี เท่ากับร้อยละ 13.6 ของปริมาณน้ำฝนทั้งหมด ด้วยเหตุนี้เราจึงยังขาดน้ำที่ต้องการใช้ราว 50,000 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี

การที่เรามีความสามารถในการเก็บกักน้ำฝนได้ค่อนข้างน้อย เป็นเพราะในหน้าน้ำ เราต้องเผชิญปัญหาน้ำท่วมทั่วทุกภาคของไทยเป็นประจำทุกปี เราจัดการปัญหาด้วยการขับไล่น้ำส่วนเกินลงแม่น้ำโขง แม่น้ำเจ้าพระยาเหมือน “ของเสีย” หรือ “เป็นสิ่งสกปรก”ของสังคม แต่เมื่อถึงหน้าแล้ง เรากลับต้องเผชิญปัญหาภัยแล้งซ้ำซากเป็นประจำทุกปี

ผมประมาณการว่าความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจจากปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งในแต่ละปีอยู่ในราว 30,000–50,000 ล้านบาท/ปี หากคิดย้อนหลังกลับไปในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจจากปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งน่าจะอยู่ในราว 600,000–1,000,000 ล้านบาท

ปัญหาความยากจนในเรื่องน้ำนี้ เราควรมองอย่างไร ? ผมคิดว่าคนไทยส่วนใหญ่มองว่าน้ำฝนมาก หรือน้ำฝนน้อยในแต่ละปีเป็นเรื่องของธรรมชาติ ซึ่งเป็นความจริงเพียงส่วนเดียว เพราะน้ำฝนจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับพวกเราทุกคนจะช่วยกันดูแลรักษาป่าอย่างไรด้วย

ส่วนปัญหาน้ำท่วม และน้ำแล้ง ที่เราคนไทยทุกคนประสบเป็นประจำทุกปี ไม่ใช่ปัญหาธรรมชาติ แต่เป็นเรื่องของภูมิปัญญาและการใช้ความสามารถของรัฐบาลในการบริหารจัดการ ตราบจนกระทั่งถึงขณะนี้ ผู้เขียนพบว่ายังไม่มีรัฐบาลชุดไหนเลยที่มีหลักคิดที่ดีเพียงพอที่จะเอาชนะปัญหานี้ได้

ปัญหาความยากจนเรื่องน้ำ นำไปสู่ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ ความเสื่อมถอยในการพัฒนาประเทศ เศรษฐกิจฐานรากอ่อนแอและเสื่อมโทรมลงเป็นลำดับ ซึ่งส่งผลกระทบต่ออาชีพและรายได้ของพี่น้องเกษตรกร เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานจากชนบทเข้าสู่ภาคเมือง และสร้างปัญหาสังคมจำนวนมาก ตั้งแต่ระดับครัวเรือนจนถึงระดับทั่วทั้งสังคมของประเทศ

นอกจากนี้การมีแหล่งน้ำที่ไม่เพียงพอ ยังส่งผลกระทบต่อภาคนอกการเกษตรคือภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจบริการ โรงแรมและการท่องเที่ยว ฯลฯ ทำให้ต้นทุนการทำธุรกิจแพงเกินไป และเกิดความไม่มีเสถียรภาพในเรื่องน้ำในระยะปัจจุบันและอนาคตของธุรกิจนอกภาคการเกษตรกรทั้งประเทศ

ผู้เขียนเห็นว่าการแก้ปัญหาเรื่องน้ำไม่ควรจบที่การประกาศภัยเขตภัยแล้งของแต่ละจังหวัด และประชาชนคอยรอรับการช่วยเหลือจากรัฐบาล วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดจากโรคระบาด COVID เป็นวิกฤตการณ์ที่ร้ายแรงมาก เพราะมันร้ายแรงยิ่งกว่าวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี พ.ศ. 2540 ไม่น้อยกว่า 10 เท่า ในภาวะวิกฤตเช่นนี้ เราจึงต้องการหลักคิดใหม่ในการบริหารจัดการน้ำของประเทศเสียใหม่


หลักคิดใหม่ในเรื่องการบริหารจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็ก คือ ต้องทำให้ประชาชนสามารถประกอบอาชีพได้อย่างเต็มความสามารถทุกฤดูกาล โดยต้องเร่งดำเนินการก่อสร้างสระซอยซีเมนต์ ฝายแกนซอยซีเมนต์ในทุกลำน้ำและทุกลุ่มน้ำ การเติมน้ำลงสู่ชั้นใต้ดิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในแปลงเกษตรกรรมทุกแปลงจะต้องมีบ่อบาดาลน้ำตื้น ชุดสูบน้ำโซล่าเซลล์ ชุดหอถังพักน้ำ ชุดกระจายน้ำ รูปแบบต่างๆ ที่กล่าวมานี้จะทำให้ประชาชนสามารถประกอบอาชีพการทำเกษตรกรรมได้อย่างมีความต่อเนื่องตลอดทั้งปี

ในปัจจุบันเรามีพื้นที่นอกเขตชลประทานราว 102 ล้านไร่ หรือราวร้อยละ 78 ของพื้นที่การเกษตรทั้งประเทศ และนี่คือพื้นที่เป้าหมายที่รัฐบาลควรให้ความสนใจที่จะหาแหล่งน้ำให้กับพี่น้องประชาชนให้ได้อย่างเพียงพอ

ผู้เขียนเห็นว่าแหล่งน้ำขนาดเล็กน่าที่จะเป็นทางออกของปัญหาเรื่องน้ำของไทยได้ เพราะเหตุว่ามันเป็นโครงการที่ใช้งบประมาณน้อย เรียกว่าต้นทุนถูก กล่าวคือต้นทุนเพียงหลักหมื่นบาท หรือหลักแสนบาทเท่านั้นใช้เวลาก่อสร้าง 3-5 วัน ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับชาวบ้าน เพราะเมื่อเครื่องไม้เครื่องมือเสีย ชาวบ้านสามารถซ่อมแซมเองได้ เมื่อโครงการเสร็จชาวบ้านจะมีน้ำใช้ได้ทันทีตลอดปี ชาวบ้านที่ทำเรื่องแหล่งน้ำขนาดเล็กมักนิยมทำการเกษตรแบบผสมผสาน และเป็นการทำการเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลง ด้วยเหตุนี้เกษตรกรจะมีรายได้จากพืชผลการเกษตรกรแทบทุกวัน และมีรายได้เฉลี่ย 2,000 – 3,000 บาท/วัน ทำให้พวกเขาหลุดพ้นจากหนี้สินและความยากจนได้ทันที

ผู้เขียนใคร่ขอให้รัฐบาลเปิดโอกาสให้พี่น้องเกษตรกรได้มีส่วนร่วมในการคิดและเสนอโครงการแหล่งน้ำขนาดเล็ก ที่ผ่านมาโครงการต่าง ๆ ในเรื่องการบริหารจัดการน้ำจะถูกกำหนดจากส่วนกลางกล่าวได้ว่าโครงการทั้งหมดเป็นโครงการที่ข้าราชการคิดและทำโดยประชาชนได้ไม่มีส่วนร่วม โครงการเหล่านี้จึงไม่ประสบความสำเร็จ เพราะฉะนั้นเราจะพบว่าอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่หรือบ่อบาดาลจำนวนไม่ใช่น้อยที่สร้างเสร็จแล้วก็ไม่ได้ให้ประโยชน์อะไรแก่ประชาชนที่ต้องการน้ำเลย

ในภาวะวิกฤต เรามีความจำเป็นที่จะต้องขยายประชาธิปไตยลงไปสู่ภาคประชาชนให้มากยิ่งขึ้น โครงการต่างๆ ในเรื่องน้ำต้องดำเนินการโดยประชาชน ชุมชน และประชาชนในพื้นที่ที่รวมตัวกันเป็นพหุภาคี รัฐบาลควรให้ข้อมูลต่าง ๆ สำหรับโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมแก่ประชาชนอย่างกว้างขวาง เพื่อให้ประชาชนมีข้อมูลอย่างเพียงพอที่จะเขียนเสนอโครงการขึ้นมาจากระดับล่าง

ถ้าเรายอมรับว่า “ข้อมูล” และ “ความรู้”คืออำนาจชนิดหนึ่งในสังคม การที่รัฐบาลให้ข้อมูลแก่ประชาชนในเรื่องการจัดทำโครงการแหล่งน้ำ แท้ที่จริงแล้วก็คือการที่รัฐบาลให้อำนาจแก่ประชาชนนั่นเอง นโยบายแบบนี้จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับประชาชนดีขึ้น และรัฐบาลจะได้รับความรักและความนับถือจากประชาชนทั้งประเทศ

ยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และการจัดหาแหล่งน้ำให้เกษตรกรอย่างเพียงพอควรเริ่มต้นจากลุ่มน้ำในประเทศที่มีจำนวน 25 ลุ่มน้ำ หากรัฐบาลทำฝายชะลอน้ำ แกนซอยซีเมนต์ในลำน้ำหลักและลำน้ำสาขา (ลำน้ำเล็ก) ทุก 5 กม. ในแต่ละลำน้ำหลักและลำน้ำสาขา เราน่าจะมีฝายชะลอน้ำแกนซอยซีเมนต์ราว 10,000 ฝาย ซึ่งจะเป็นแหล่งน้ำกักเก็บน้ำในแต่ละลำน้ำได้เป็นจำนวนมหาศาล ที่สำคัญคือเกษตรกรมีน้ำใช้ตลอดปีโดยไม่ขาดแคลนน้ำอีกต่อไป

นอกจากนี้ รัฐบาลควรส่งเสริมให้ประชาชนทำโครงการแหล่งน้ำขนาดเล็กในพื้นที่ภัยแล้งซ้ำซาก ซึ่งผมคาดว่าในภาคเหนือจะมีราว 8,000 โครงการ ภาคอีสาน 12,000 โครงการ ภาคกลาง 6,000 โครงการ และภาคใต้ 4,000 โครงการ รวมเป็นโครงการในพื้นที่แล้งซ้ำซาก 30,000 โครงการครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูก 600,000 ไร่ และเกษตรกรได้ประโยชน์อย่างน้อย 300,000 ครัวเรือน ด้วยนโยบายและมาตรการนี้จะทำให้ปัญหาความยากจนเรื่องน้ำของไทยได้รับการแก้ไขให้ตกไปโดยพื้นฐานทันที

ที่สำคัญโครงการเหล่านี้ สามารถทำให้แล้วเสร็จได้ภายในเวลา 2- 4 เดือน นับจากวันที่รัฐบาลอนุมัติให้ลงมือทำได้ ผมคิดว่ารัฐบาลและภาคประชาสังคมมีศักยภาพมากเพียงพอที่จะแก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งสามารถแก้ให้ตกไปได้ภายในเวลาเพียง 1 ปี เท่านั้น

เพื่อเป็นการจูงใจประชาชนให้มีส่วนร่วมในการสร้างแหล่งน้ำขนาดเล็กให้เกิดพร้อมกันทั่วทั้งประเทศทันที รัฐบาลควรให้การสนับสนุนโครงการคิดเป็นเงินที่ร้อยละ 50 , 70 หรือ 80 ของมูลค่าโครงการ ค่าใช้จ่ายส่วนที่เหลือองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นสามารถใช้งบประมาณในส่วนของตนเอง

สำหรับกลุ่มชาวบ้านอาจใช้การกู้ยืมเงินจากรัฐบาลร้อยละ 50,30 หรือ 20 โดยรัฐบาลคิดดอกเบี้ยต่ำร้อยละ 0.01 ต่อปี และมีระยะปลอดหนี้ 3-5 ปี

ส่วนการแก้ปัญหาความยากจนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากตัวเลขของทางราชการระบุว่า มีครอบครัวที่ยากจนประมาณ 231,000 ครัวเรือน ผมเห็นว่าเพื่อแก้ปัญหาให้ตกไป รัฐบาลควรใช้โอกาสนี้กันเงินไว้จำนวนหนึ่ง ราว 2-3 พันล้านบาท หรือให้หมู่บ้านละ 2 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมเรื่องอาชีพและการมีงานทำเพียงอย่างเดียว

กล่าวโดยสรุป งบประมาณ 4 แสนล้านบาท สำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมในระดับฐานราก ควรกันงบประมาณส่วนหนึ่งไว้เพื่อใช้ในโครงการบริหารจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็ก การส่งเสริมสระน้ำในไร่นาทุกครัวเรือน การทำแหล่งน้ำขนาดเล็กในพื้นที่แล้งซ้ำซาก และการสร้างฝายแกนซอยซีเมนต์ในลุ่มน้ำและทุกลำน้ำของประเทศจะสร้างเศรษฐกิจฐานรากที่เข้มแข็งยั่งยืนได้อย่างแท้จริง ความยากจนในพื้นที่ชนบทจะถูกขจัดให้หมดสิ้นไป และประเทศจะเดินหน้าได้อย่างมีเกียรติและภาคภูมิใจในระดับนานาชาติ
ผู้เขียน ... รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์

รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจน และลดความเหลื่อมลํ้า วุฒิสภา

Let's block ads! (Why?)



"ไปได้ด้วยดี" - Google News
June 16, 2020 at 11:44PM
https://ift.tt/3hxjmJV

การแก้จนด้วยแหล่งน้ำขนาดเล็ก / รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ - ผู้จัดการออนไลน์
"ไปได้ด้วยดี" - Google News
https://ift.tt/2U2qx2u


Bagikan Berita Ini

0 Response to "การแก้จนด้วยแหล่งน้ำขนาดเล็ก / รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ - ผู้จัดการออนไลน์"

Post a Comment

Powered by Blogger.