วันพุธ ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2563, 06.00 น.
“ปี่พาทย์ประคองศิลป์” กับการแสดงในยุค New Normal
แม้ประเทศไทยจะได้ชื่อว่าควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ดีเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่ก็ยังไม่อาจยิ้มออกหรือหายใจได้ทั่วท้อง เพราะผลกระทบทางเศรษฐกิจยังคงหนักหน่วง โดยเฉพาะภาคบริการและท่องเที่ยวซึ่งไทยพึ่งพาเม็ดเงินจากชาวต่างชาติเป็นจำนวนมาก ดังจะเห็นได้จากวันนี้หากใครตระเวนไปตามโรงแรมหรูระดับ4 ดาว 5 ดาว ในย่านท่องเที่ยวจะพบว่าหลายแห่งยังคงปิดทำการ ขณะที่ร้านรวงบรรยากาศก็ไม่คึกคักและรายได้ของผู้ประกอบการก็ลดลงในระดับที่ไม่อาจเทียบได้กับช่วงก่อนโรคระบาดจะมาเยือน
อาชีพหนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงคือ “นักดนตรี” ไม่ว่าแนวสากลร่วมสมัยหรือแบบไทยเดิม ดังจะเห็นจากช่วงที่มีการล็อกดาวน์ ปิดสถานบันเทิงและห้ามจัดกิจกรรมรวมกลุ่มงานรื่นเริงหรือพิธีกรรมประเพณีต่างๆ คนที่มีชื่อเสียงหน่อยพอมีเงินเก็บบ้างก็ต้องกินอยู่อย่างประหยัด แต่อีกหลายคนที่ไม่ได้มีเงินเหลือมากพอก็อาจถึงขั้นอดอยากต้องไปใช้บริการโรงทานหรือตู้ปันสุขเพราะไม่มีรายได้เข้ามา
“อาชีพนักดนตรีปี่พาทย์โดยทั่วไปส่วนใหญ่ไม่มีเงินเดือนหรือรายได้ประจำ ช่วงล็อกดาวน์ทำเอาคนดนตรีไทยไส้แห้งไปตามๆ กัน งานจองถูกเลื่อน งานปัจจุบันถูกยกเลิกเมื่อไม่มีงานก็ไม่มีเงินเกิดสุญญากาศทางการเงินที่จะมาจุนเจือครอบครัว อย่างในสุพรรณบุรีถ้านับว่ามีวงปี่พาทย์มอญก็เกือบ 40 วง แต่ละวงมีลูกน้องประจำวงไม่ต่ำกว่า 10 คน ลำพังโต้โผก็ยังพอมีทุนรอนอยู่ได้ ถ้ามีทุนมากหน่อยก็ดูแลลูกน้องได้ หรือลูกน้องบางคนพอจะมีอาชีพเสริมเช่น ทำนาทำสวน แต่บางคนไม่มีตัวช่วยเลยอันนี้ลำบาก บ้างต้องไปรับจ้างทาสีบ้าน ฉีดยาในสวน รับจ้างเข็นผักกินรายวัน
คนกลุ่มนี้ยามเจ็บป่วยเจ็บไข้ก็ไร้สวัสดิการ ไม่มีหลักประกันทางการเงิน แต่ละคนต้องดิ้นรนดูแลตัวเองและครอบครัว ส่วนตัวผมกับครอบครัวประคองศิลป์ไม่เดือดร้อนมากนักช่วงที่ผ่านมาจึงรวมตัวกับพี่น้องศิลปินถิ่นสุพรรณ ทำถุงยังชีพไปแจกจ่ายเกือบทุกวง บางคนได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท จากรัฐบาลก็พอต่อลมหายใจบรรเทาคลายทุกข์ไปได้บ้าง ก็คอยให้ กำลังใจกัน รวมถึงการมีโลกโซเชียลทั้งเฟซบุ๊คและการสร้างกลุ่มไลน์ ก็เป็นอีกหนทางช่วยให้ติดต่อสื่อสารในกลุ่มใครมี อะไรก็ได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน”
สมมาตร วิสุทธิวงษ์
เรื่องเล่าจาก สมมาตร วิสุทธิวงษ์ ซึ่งด้านหนึ่งแม้จะทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แต่อีกด้านก็เป็นคนที่คลุกคลีอยู่ในวงการปี่พาทย์มาทั้งชีวิต ฉายภาพให้เห็นถึงความไม่มั่นคงของอาชีพนักดนตรี อย่างไรก็ตาม ระยะหลังๆ เมื่อสถานการณ์โรคระบาดเริ่มคลี่คลายและรัฐบาลทยอยคลายล็อกดาวน์ให้งานรื่นเริงหรือกิจกรรมตามประเพณีกลับมาจัดได้อีกครั้ง บรรดานักดนตรีก็ค่อยๆ มีงานเข้ามา แม้จะยังไม่ชุกมากเหมือนสมัยก่อนเกิดวิกฤติก็ตาม
ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจ “ภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ใครๆ ก็ต้องรัดเข็มขัด”แม้ผู้คนในจังหวัดแถบภาคกลางและตะวันตกไม่ว่าจะเป็นสุพรรณบุรี กาญจนบุรี พระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี ไม่ว่ายากดีมีจนอย่างไรมักนิยมหาวงปี่พาทย์มาบรรเลงในงานศพเพราะถือเป็นการให้เกียรติผู้วายชนม์ก็ตาม ขณะเดียวกัน สมมาตร ต้องเข้าไปช่วยทำความเข้าใจกับทางวัดด้วย ว่าปัจจุบันสามารถจัดงานประเพณีได้แล้วพร้อมกับมีมาตรการลดความเสี่ยงจากโรคระบาด
“ช่วงคลายล็อก เฟส 4 ใหม่ๆ ผมเคยไปช่วยประสานให้มีการแสดงในงานศพพ่อเพลงพื้นบ้านท่านหนึ่ง ขออนุญาตเอ่ยนาม คือ ครูสุรินทร์ ศรีประจันต์ ศิษย์เอกแม่ขวัญจิต ศรีประจันต์ ต้องการจัดให้มีการแสดงเพลงอีแซวเพื่อร่วมไว้อาลัยเป็นครั้งสุดท้าย แต่จัดไม่ได้เพราะ แต่เจ้าอาวาสหลวงพ่อบอกว่าจะผิดกฎของวัฒนธรรมจังหวัดยังห้ามให้มีการละเล่น
ผมจึงต้องประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแจ้งให้ทางวัดทราบว่าสามารถจัดได้แล้วโดยต้องมีการเว้นระยะห่างให้มีการคัดกรองด้วย หลวงพ่อจึงอนุญาต บรรดาลูกศิษย์ของครูแซ๊ค จึงดีใจกันมากจัดให้มีการแสดงทันในวันงานได้ทัน งานจึงผ่านลุล่วงไปได้ด้วยดี ในวันพระราชทานเพลิงแขกผู้ใหญ่ระดับผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรียังมาร่วมประชุมเพลิง” สมมาตร ระบุ
สมมาตร เล่าต่อไปอย่างภาคภูมิใจว่า “สุพรรณฯ เป็นเมืองของคนดนตรี” เห็นได้จากมีศิลปินที่มีชื่อเสียงมากมาย โดยเฉพาะทางฝั่งดนตรีไทยและเพลงลูกทุ่ง อาทิ มนตรี ตราโมท ที่สร้างผลงานการประพันธ์เพลงทั้งเพลงเถา เพลงระบำ เป็นสมบัติชาติไว้อย่างมากมาย ซึ่งเพิ่งจัดงาน 10 รอบปีชาตกาลไปเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา รวมถึง พุ่มพวง ดวงจันทร์ สายัณห์ สัญญา สุรพล สมบัติเจริญ ก้าน แก้วสุพรรณ เสรี รุ่งสว่าง ศรเพชร ศรสุพรรณ แม่ขวัญจิต ศรีประจันต์พ่อไวพจน์ เพชรสุพรรณ
นอกจากนี้ยังมีตำนานเพลงเพื่อชีวิตอย่าง ยืนยง โอภากุล หรือแอ๊ด คาราบาว และศิลปินเพลงสตริงที่กลายมาเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจจากการจัดกิจกรรมวิ่งก้าวคนละก้าวอย่าง อาทิวราห์ คงมาลัย หรือตูน บอดี้สแลม เอกลักษณ์ที่โดดเด่นนี้ของ จ.สุพรรณบุรี ทำให้ “อพท.” องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) สังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เห็นความสำคัญและควรยกย่องเชิดชูให้เป็นที่ประจักษ์ต่อชาวโลก รวมถึงสนับสนุนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแนวดนตรีอย่างยั่งยืน
“อพท. เริ่มเข้ามามีบทบาทส่งเสริมผลักดันให้สุพรรณบุรีมุ่งสู่เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรีเสนอต่อองค์การยูเนสโก ในปี 2564ซึ่งตอนนี้ไทยเรามีเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ 2 เมืองคือ กรุงเทพมหานครด้านการออกแบบ (City of Design)และจ.สุโขทัย ด้านศิลปะและหัตถกรรมพื้นบ้าน (City of Crafts and Folk Art) จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งของชาวสุพรรณที่จะต้องรวมใจเป็นหนึ่งเดียวกัน ผลักดันให้ยูเนสโกรับรองให้สำเร็จ นั่นจะเป็นการเปิดตลาดการท่องเที่ยวใหม่ให้ประเทศ และชาวสุพรรณจะสร้างรายได้เพิ่มอีกมหาศาล” สมมาตร กล่าว
ย้อนไปช่วงวัยเด็ก สมมาตร เล่าอีกว่า พ่อของตนคือ ประคองวิสุทธิวงษ์ โต้โผวงปี่พาทย์มอญคณะประคองศิลป์ ซึ่งหากนับตั้งแต่รุ่นทวดแล้ว คุณพ่อประคองจะถือเป็นรุ่นที่ 3 ซึ่งได้เรียนวิชาดนตรีปี่พาทย์มาหลายสำนัก เริ่มตั้งแต่ครูพริ้ง ดนตรีรสครูเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล ครูหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) และครูบุญยงค์ เกตุคง ทั้งนี้ คุณพ่อประคอง ยังถือเป็นผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ทางดนตรีไทย นั่นคือการออกแบบรางระนาดแบบฆ้องมอญขึ้นมาใหม่
โดยคุณพ่อประคอง เกิดความคิดขึ้นขณะมองเห็น “ฆ้องกระแต” เมื่อครั้งไปเรียนวิชาดนตรีกับครูเทวาประสิทธิ์ จึงทดลองออกแบบเป็นรางและต่อหัวและท้ายคล้ายๆ กับฆ้องมอญ ให้ช่างแกะฆ้องทางแถบสุพรรณฯ ทำเป็นรูปหงส์ด้านหัวทำเป็นรูปหงส์ ด้านท้ายทำเป็นหางหงส์เหมือนกับเรือสุพรรณหงส์ เรียกกันว่า “รางหงส์” ซึ่งมีความสวยงามมากวิจิตรมาก และตอนหลังๆ คนก็นิยมเรียกกันว่า “รางระนาดหงสา” กันไปทั่ว จากเดิมในยุคก่อนหน้าในวงปี่พาทย์มอญจะประกอบด้วยฆ้องมอญแต่รางระนาดเอก ระนาดทุ้มจะเป็นแบบรางไทย
รางระนาดหงสา
“ผมยังจำได้ตอนเด็กๆ เวลาไปทำปี่พาทย์ เวลายกตัวรางระนาดจะต้องถอดหัวหงส์ออก พ่อออกแบบให้สามารถถอดแยกส่วนหัวออกมาได้ เอาผืนระนาดเอก ผืนระนาดทุ้ม ขึงกับรางระนาดรูปหงส์ ส่วนรางระนาดเอกเหล็ก ระนาดทุ้มเหล็ก ก็ตีขอบทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าและนำผืนเหล็กวางบนรางที่เป็นยาง ในชุดแรกทำไว้ 4 ราง แต่เนื่องจากขนาดที่ใหญ่เทอะทะและหนัก พ่อจึงได้คิดสร้างรางหน้าพระชุดใหม่ขึ้นมาแทน และได้ขายรางระนาดหงสาไปให้พวกปี่พาทย์ทางลพบุรีไปทั้งหมด
พ่อเป็นคนชอบคิดทำอะไรใหม่ๆ จนได้ฉายาว่า นายประคองชอบลองของใหม่ อีกเรื่องคือวงปี่พาทย์สุพรรณสมัยนั้นยังไม่มีมอญรำในงานศพ พ่อคิดทำขึ้นโดยเห็นจากสมัยที่ไปอยู่บ้านครูหลวงประดิษฐ์ไพเราะบ้านครูจะมีคณะละครชื่อผกาวลี โดยลูกสะใภ้ท่าน คือคุณลดา สาตรายนต์ คิดทำขึ้นปิดวิกไว้เล่นรับแขกฝรั่ง ทูต แขกผู้ใหญ่มาดูกันเยอะ”สมมาตร เล่าถึงคุณพ่อของตน
สุดท้าย สมมาตร ยังฝากถึงประเด็น “การปรับตัวของคนดนตรีไทยในยุคชีวิตวิถีใหม่ (New Normal)” ด้วยว่า ในยุคสื่อออนไลน์ทำให้โลกไร้พรมแดน ทุกคนติดต่อกันได้ง่าย“โควิด-19 ทำให้นักดนตรีต้องปรับตัวต้องทำให้วงดนตรีเข้าไปอยู่ในช่องทางอย่างเฟซบุ๊คหรือยูทูบ” ดังนั้น ควรมีการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ให้เป็นดนตรีไทยแนวร่วมสมัย เช่น นำเพลงไทยเดิมมาเล่นร่วมกันระหว่างดนตรีไทยกับดนตรีสากล หรือนำเพลงสากลมาเล่นโดยใช้เครื่องดนตรีไทยผสมกับสากล หรือดนตรีภาคอีสาน ภาคเหนือหรือภาคใต้ ได้ทั้งนั้นแล้วเรียบเรียงใหม่ให้เข้ากัน
ดังตัวอย่างที่เคยเป็นที่ฮือฮาเมื่อหลายปีก่อน เมื่อวงร็อกสัญชาติอเมริกันอย่าง My Morning Jacket ปล่อยเพลง Holdin on to Black Metal สู่คนฟัง โดยเปิดเผยว่าเพลงนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากเพลง อีแซวตอบปัญหาหัวใจ ผลงานของ ขวัญใจ-ขวัญจิต ศรีประจันต์ ศิลปินแห่งชาติประเภทเพลงพื้นบ้าน “แม้จะไม่ง่ายแต่เชื่อว่าศิลปินไทยเองก็ทำได้”ทุกอย่างก็เป็นไปได้ ขอเพียงแค่เริ่มต้นคิดแล้วลงมือกระทำ
“ดนตรีไทยไม่ได้น่าเบื่อ เราสามารถเล่นร่วมสมัยประยุกต์เล่นร่วมกับดนตรีสากลได้ ซึ่งโดยส่วนตัวผมได้ทั้งสองแนวเพราะก็พอเล่นเปียโนได้ เคยไปมอบทุนการศึกษาและเล่นเปียโนคู่กับระนาดก็ไพเราะไปอีกแบบ ตอนนี้กำลังคิดร่วมทำโครงการสนับสนุนประกวดดนตรีไทยร่วมสมัยกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อให้เกิดการสร้างสรรค์ดนตรีให้เข้ากับยุคสมัย และจะผลักดันงานด้านดนตรีไทยต่อไปเรื่อยๆ เมื่อมีโอกาส
จึงอยากฝากเยาวชนคนในชาติและหน่วยงานภาครัฐเอกชน ควรร่วมกันเป็นผู้รู้รักษารากเหง้าและความเป็นเอกลักษณ์ของ ดนตรีไทยซึ่งถือเป็นศิลปะที่รังสรรค์โดยบรรพบุรุษ ผ่านกาลเวลาและความท้าทายในแต่ละยุคสมัยได้อย่างงดงาม ดนตรีไทยนอกจากจะแสดงถึงเอกลักษณ์ของชาติแล้ว ยังแสดงให้ชาวโลกเห็นถึงความมีอารยะของคนไทย และเยาวชนคนรุ่นใหม่ จะเป็นผู้สืบสาน รวมถึงสามารถสร้างประวัติศาสตร์บทใหม่ให้กับดนตรีไทยได้อย่างแน่นอน” สมมาตร กล่าวในท้ายที่สุด
"ไปได้ด้วยดี" - Google News
September 02, 2020 at 06:00AM
https://ift.tt/34WuM62
สมมาตร วิสุทธิวงษ์ 'ดนตรีไทย'กับอนาคตแบบ'New Normal' - หนังสือพิมพ์แนวหน้า
"ไปได้ด้วยดี" - Google News
https://ift.tt/2U2qx2u
Bagikan Berita Ini
0 Response to "สมมาตร วิสุทธิวงษ์ 'ดนตรีไทย'กับอนาคตแบบ'New Normal' - หนังสือพิมพ์แนวหน้า"
Post a Comment